หน้าเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

ประวัติความเป็นมา

ประวัติศาสตร์ประเทศลาว

ประวัติศาสตร์ลาวยุคต้น

?อาณาจักรล้านช้าง ประวัติศาสตร์ยุคแรกๆ ของลาว เชื่อว่าอยู่ภายใต้การครอบครองของอาณาจักรน่านเจ้ามีตำนานโดยขุนบรม และขุนลอ มีลูกสืบหลานต่อๆ กันมา จนถึงรัชสมัยพระเจ้าฟ้างุ้มผู้รวบรวมอาณาจักรล้านช้างได้เป็นผลสำเร็จในช่วงสมัยพุทธศตวรรษที่ 19 และมีกษัตริย์ปกครองสืบทอดต่อกันมาหลายพระองค์ ที่สำคัญ เช่น

พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช พระองค์มีความสัมพันธไมตรีที่แนบแน่นกับกษัตริย์ไทย โดยเฉพาะในรัชสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ

พระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช รัชสมัยของพระองค์นับเป็นยุคทองของราชอาณาจักรล้านช้าง ภายหลังเมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว เชื้อพระวงศ์ลาวต่างก็แก่งแย่งราชสมบัติกัน จนอาณาจักรล้านช้างแตกแยกเป็น 3 ส่วนคือ อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์และอาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์ ต่างเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน และเพื่อชิงความเป็นใหญ่ต่างก็ขอสวามิภักดิ์ต่อเมืองเพื่อนบ้านเช่นไทย พม่า เพื่อขอกำลังมาสยบอาณาจักรลาวด้วยกัน ในลักษณะนี้ในที่สุดอาณาจักรลาวทั้ง 3 แห่งนี้จะตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรสยามในปี พ.ศ. 2321

พระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช หน้าพระธาตุหลวง นครหลวงเวียงจันทน์

ความแตกแยกในอาณาจักรล้านช้าง

สงครามเจ้าอนุวงศ์

พ.ศ. 2369 อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์มีพระเจ้าอนุวงศ์เป็นกษัตริย์ ได้รับราชการกับพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยแห่งกรุงสยามมีความชอบมาก จึงประทานเมืองจำปาสักให้เจ้าราชบุตรโย้ ราชโอรสของเจ้าอนุวงศ์ปกครอง ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลต่อมา เจ้าอนุวงศ์เห็นว่าเป็นช่วงเปลี่ยนแผ่นดินจึงคิดแยกตัวเป็นอิสระไม่ขึ้นกับไทยอีกต่อไป จึงระดมกำลังรวมกับเจ้าราชบุตรโย้ซึ่งครองจำปาสักยกทัพมาตีสยามทางด้านภาคอีสานของไทยในปัจจุบัน พร้อมทั้งแสวงหาพันธมิตรจากหลวงพระบางและหัวเมืองล้านนาแต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนอง เนื่องจากหัวเมืองดังกล่าวฝักใฝ่กับฝ่ายไทยมากกว่า เมื่อกองทัพของเจ้าอนุวงศ์ยกทัพมาถึงเมืองนครราชสีมาเห็นจะทำการไม่สำเร็จจึงตัดสินใจเผาเมืองนครราชสีมาทิ้งและกวาดต้อนเชลยตามรายทางกลับไปเวียงจันทน์ ระหว่างทางเชลยที่ถูกกวาดต้อนก็ได้ลุกขึ้นต่อสู้กองทัพลาวที่ทุ่งสำริดจนเสียกำลังทหารลาวส่วนหนึ่งด้วย ด้านฝ่ายไทยซึ่งทราบข่าวค่อนข้างช้าก็ได้ส่งกองทัพภายใต้การนำของกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์และเจ้าพระยาบดินทรเดชา

(สิงห์ สิงหเสนี) ขึ้นมาปราบปราม กองทัพเจ้าอนุวงศ์สู้ไม่ได้จึงแตกพ่าย ตัวเจ้าอนุวงศ์และราชวงศ์เชื้อสายก็ต้องหนีภัยไปพึ่งจักรวรรดิเวียดนาม ฝ่ายสยามจึงยึดกรุงเวียงจันทน์ไว้โดยยังมิได้ทำลายเมืองลงแต่อย่างใด เป็นแต่แต่งกองทหารจำนวนหนึ่งรักษาเมืองไว้เท่านั้น

ในปี พ.ศ. 2371 เจ้าอนุวงศ์ได้กลับมายังกรุงเวียงจันทน์โดยมากับขบวนราชทูตเวียดนามพามาเพื่อขอสวามิภักดิ์สยามอีกครั้ง แต่พอสบโอกาสเจ้าอนุวงศ์จึงนำทหารของตนฆ่าทหารไทยที่รักษาเมืองจนเกือบทั้งหมดและยึดกรุงเวียงจันทน์คืน กองทัพสยามจึงถอนกำลังเพื่อรวบรวมกำลังพลและยกทัพมาปราบปรามเจ้าอนุวงศ์อีกครั้ง ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์เมื่อสู้กองทัพไทยไม่ได้จึงไปหลบภัยที่เมืองพวน (แขวงเชียงขวางในปัจจุบัน) แต่เจ้าน้อยเมืองพวนกลับจับตัวเจ้าอนุวงศ์และพระราชวงศ์ที่เหลืออยู่ส่งลงมากรุงเทพ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธเจ้าอนุวงศ์มากจึงทรงให้คุมขังเจ้าอนุวงศ์ประจานกลางพระนครจนสิ้นพระชนม์ ส่วนกรุงเวียงจันทน์ก็ทรงมีพระบรมราชโองการให้ทำลายจนไม่เหลือสภาพความเป็นเมือง และตั้งศูนย์กลางการปกครองฝ่ายไทยเพื่อดูแลอาณาเขตของอาณาจักรเวียงจันทน์ที่เมืองหนองคายแทน เมืองเวียงจันทน์ที่ถูกทำลายลงในครั้งนั้นมีเพียงแค่หอพระแก้วและวัดสีสะเกดเท่านั้นที่ยังคงสภาพสมบูรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

สงครามเจ้าอนุวงศ์ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น ต่อมาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งระหว่างราชอาณาจักรสยามและจักรวรรดิเวียดนาม จนกระทั่งเกิดสงครามที่เรียกว่า “อานามสยามยุทธ” เป็นระยะเวลาถึง 14 ปี เพราะทั้งสองอาณาจักรล้วนต้องการขยายอิทธิพลของตนเข้าไปในดินแดนลาวและเขมร ทั้งสงครามนี้ยังเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลระหว่างไทยกับลาวสืบเนื่องต่อมาจนถึงปัจจุบัน